ครบรอบ 14 ปี มติ ครม. 3 ส.ค. 53 ’สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล‘ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า ย้ำ เร่งยกร่าง กม.ชาติพันธุ์ ฉบับแรกของไทย ด้านชุมชนหวังปลดล็อกข้อจำกัด
วันนี้ (3 ส.ค. 2567) สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และ อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะกรรมาธิการสัดส่วนคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แห่งแรกของประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 แนวนโยบายในการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
ชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน ได้ทำพิธีมัดมือ หรือ กี่จึ๊ เป็นพิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยงเพื่อต้อนรับ เรียกขวัญให้กลับมาอยู่ที่ตัวเอง รวมถึงอวยพรให้สุขภาพแข็งแรงและให้การงานบรรลุไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันการคุ้มครองพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยพิธีจะใช้ไก่ 1 คู่ เหล้า 1 ขวด ข้าวต้มมัด ข้าวปุ๊ และสายสิญจน์ ผูกมัดมือให้กับรัฐมนตรีฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นได้ร่วมรับประทานอาหารกับตัวแทนชาวบ้าน พร้อมฟังเรื่องราวศักยภาพ ความมั่นคงทางอาหารในไร่หมุนเวียน ผ่านเมนูอาหารหลากหลายตามฤดูกาล เช่น ตะพอเพาะ ผัดหน่อไม้ แกงเย็น น้ำพริกผักรวม ต้มไก่
พร้อมทั้งลงพื้นที่ดูการจัดการทรัพยากรของชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ที่รักษาผืนป่าได้สมบูรณ์ ทำเกษตรแบบพักฟื้นคืนป่าอย่างไร่หมุนเวียน การทำพืชเศรษฐกิจคู่กับป่า เช่น กาแฟ ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งโพรงและชันโรง ผ้าทอกะเหรี่ยง ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ที่สำคัญคือ ชุมชนจะหักรายได้ 5% เข้ากองทุนชุมชนเพื่อป้องกันและจัดการไฟป่าด้วย
รมว.วัฒนธรรม ชูนโยบาย พร้อมดันทุนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ สู่ซอฟต์พาวเวอร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า ถือโอกาสมาเยี่ยมและรับฟังว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดำรงวิถีชีวิตแบบไหน และมีปัญหาอะไรติดขัดบ้าง เพื่อให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เน้นความเสมอภาค ความเท่าเทียม ทั้งความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ทำกิน อย่างบริเวณพื้นที่ของไร่หมุนเวียน ที่ให้เขาสามารถใช้พื้นที่ดำรงวิถีเกษตรนี้ได้
“ชุมชนชาติพันธุ์ที่นี่มีความเข้มแข็ง แข็งแรงมาก ในการที่จะอยู่ยังไงให้ยั่งยืน ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วันนี้ได้ฟังหลายอย่าง อยู่ด้วยการพึ่งพาตนเอง ไม่ว่าจะมีการ เก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักต่าง ๆ ใช้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด เหลือเอาไปขาย และมีการเอารายได้ส่วนหนึ่งมาไว้ในส่วนกลางเพื่อดูแลชุมชน ไปเป็นกองทุนในการจัดการไฟป่า ซึ่งมองว่าชุมชนนี้มีความเข้มแข็ง และน่าจะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี“
รมว.วัฒนธรรมยังกล่าวอีกว่า ศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงวัฒนธรรมที่กำลังเดินหน้าในการส่งเสริม Soft power ชาติพันธุ์ ด้วยการส่งเสริมศักยภาพให้ชุมชนชาติพันธุ์ มีความสามารถในการจัดการข้อมูลเชิงวัฒนธรรม ใช้เป็นฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาต่อยอดเป็น soft power สร้างมูลค่าให้กับมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมสนับสนุนการพัฒนาแบรนด์ชาติพันธุ์ ให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้การขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม หรือ CPOT
“จริง ๆ อย่างที่บอกที่นี่มีผลิตภัณฑ์เยอะ และทางกระทรวงมีการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม หรือ CPOT น่าจะทำงานด้วยกันได้ อย่างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่สามารถเรียนรู้หลายอย่าง อันนี้ก็สามารถไปผลักดันได้ ทั้งผ้าทอ น้ำผึ้ง และหลายอย่าง รวมถึงการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อการเรียนรู้“
ชุมชนหวัง กม.ช่วยปลดล็อกข้อจำกัด ให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากร ดำรงวิถีบนฐานศักยภาพทุนวัฒนธรรมในทุกมิติ
ตัวแทนชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อย่างผู้อาวุโสวัย 70 ปี สะท้อนว่า ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ เพิ่งมีฝ่ายนโยบายระดับรัฐมนตรีลงพื้นที่ชุมชน รู้สึกดีใจมาก ๆ เพราะชาวปกาเกอะญออยู่ผืนแผ่นดินไทย ยืนยันเป็นคนไทย เชื้อชาติไทย ขอบคุณที่เห็นความสำคัญ และอยากให้มาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ
ด้าน ชัยประเสริฐ โพคะ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยหินลาดใน ได้นำเสนอข้อมูลพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษารวมทั้งประโยชน์ของการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน ไปจนถึงเรื่องปัญหาทางนโยบาย โดยฝากให้รัฐมนตรีเข้าใจถึงสถานการณ์ ที่ในทางปฏิบัติชาวบ้านยังเจอกับปัญหาการไล่รื้อ หรือไม่ยอมรับการทำไร่หมุนเวียน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนี่เท่ากับว่า กระทรวงวัฒนธรรม กำลังถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ท่าทีของท่านรัฐมนตรี คิดว่าท่านเข้าใจมาก แต่อยู่ที่ภาคปฏิบัติว่าจะทำงานเพื่อคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์อย่างไร ที่เราอยากเห็นมากที่สุดคืออยากให้ช่วยเจรจากับกระทรวงทรัพยากรฯ ว่าเราจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร ส่วนกฎหมายชาติพันธุ์นั้นควรมีเนื้อหาที่หนุนเสริมชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิของเรา เป็นการแก้ปัญหาทั้งหมดที่เราสู้มาในเชิงนโยบาย เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของประเทศ เป็นของคนทุกคน ที่เราทำอยู่ตอนนี้คือเพื่อคนทุกคน กฎหมายควรสนับสนุนเรา”
จากนั้นตัวแทนเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้ยื่นหนังสือ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เรื่องขอให้เร่งคุ้มครองวิถีชีวิตและระบบไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
โดย 1. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นัดหมายเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 โดยเร่งด่วน เพื่อเร่งคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทันทีตามกฎหมายชาติพันธุ์ฯ ที่กำลังผลักดันกันอยู่ในรัฐสภา
- ให้เร่งตรวจสอบการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเด็นการคุกคามไร่หมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน และชุมชนอื่นๆ ผ่านการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับหนังสือ พร้อมย้ำว่า อยากให้มีความเสมอภาคบนความเท่าเทียมซึ่งวันนี้ที่ได้มาฟัง ไม่ว่าจะส่วนตัวในฐานะกระทรวงวัฒนธรรมเอง หรือว่าทาง สส. ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.จังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐบาล ก็พยายามผลักดัน
พร้อมย้ำว่า ส่วนร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ก็พยายามทำให้ครอบคลุมที่สุด อยากให้เป็นก้าวแรกอยากผลักดันให้เร็วที่สุด จะผลักดันให้ประสบความสำเร็จในเร็ว ๆ นี้
ด้าน สส. ปิยะรัฐชย์ ย้ำว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายชาติพันธุ์พิจารณาครบ 35 มาตราแล้ว อาจจะยังเหลือในส่วนการกลับมาทบทวนบางมาตรา เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ครอบคลุมมากที่สุด
Nguồn: Thai PBS; https://theactive.thaipbs.or.th/news/local-20240803