วันนี้ (29 มี.ค.68) จากกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย ระบุว่าจาก พื้นที่และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องอาศัย เทคนิคพิเศษในการค้นหา กู้ชีพ และกู้ภัย อย่างนุ่มนวลที่สุดขณะเดียวกันต้องทันสถานการณ์ ซึ่งการกู้ชีพแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Confined Area Management การจัดการในพื้นที่ ที่คับแคบ โดยให้ความเห้นว่าในใต้กองซากอาคารที่ถล่มลงมา ถือว่าเป็นพื้นที่แคบ เป็นเรื่องใหญ่มากที่จะต้องมีวิถีการจัดการที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเห็นคนร้องขอความช่วยเหลือภายใต้กองหินแล้วสามารถขุดคุ้ยได้ทันที เพราะหากทำแบบนั้นอันตรายจะเกิดขึ้น
“คนที่ยังไม่ตายอาจจะโดนหินถล่มซ้ำเติมลงมาอีกเพราะซากมันวางซ้อนๆกัน ฉะนั้นการเคลื่อนย้ายวัสดุแต่ละชิ้นออกมาจะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง แต่เรื่อง confined area management เป็นเรื่องที่คนไทยยังมีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่มากเท่าต่างประเทศที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ”
พิจิตต กล่าวว่า ในด้านการจัดการภัยพิบัติเคยได้เสนอความคิดเห็นกันว่าควรเพิ่มขีดความสามารถนี้ให้กับประเทศไทย ซึ่งประเทศที่มีหลักสูตรนี้และใกล้ประเทศไทยที่สุดคือสิงคโปร์ ซึ่งหลักสูตรนี้นอกจากจะมีระบบบัญชาการแล้ว อาจจะต้องใช้ K9 การใช้เซนเซอร์ เครื่องระบุความร้อน การใช้กล้องเพื่อส่องเข้าไปดูข้างใน เครื่องจับเสียงเพื่อตรวจสอบว่าภายใต้ซากอาคารที่พัง มีสิ่งมีชีวิตอยู่ตรงไหนบ้าง หลังจากนั้นสำคัญ คือ เมื่อเรารู้ว่าตรงไหนมีสิ่งมีชีวิต การติดต่อสื่อสาร การส่งเข้าส่งออกของน้ำ และอากาศหายใจของผู้ที่ติดอยู่ข้างใน คือ เรื่องการป้องกันไม่ให้มีการขาดแคลนของสิ่งเหล่านี้ในวันข้างหน้า
ในการทำลักษณะนี้ ถูกใช้ในการกู้ภัยหลายกรณี เช่น การกู้ภัยในเหมือง การกู้ภัยจากรถไฟใต้ดิน แต่ขณะที่ไทยยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เรามีวิธีการที่รับรู้ และเรียนรู้มาบ้างจากที่ต่าง ๆ
“เท่าที่ทราบมาตอนนี้มีกองทัพไทย ที่ได้เข้าไปเรียนรู้หลักสูตรนี้อยู้บ้าง และการอบรมนี้ใช้เวลาระดับหนึ่งเลยทีเดียว กว่าจะรับรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนรู้จากการจำลองเหตุการณ์เท่านั้น แต่มีการลงไปดูเหตุการณ์จริง ในเรื่องนี้นอกจากจะทำให้เกิดเหตุการณ์รอดชีวิตของผู้ที่ติดอยู่ภายในแล้ว ยังทำให้มีการประเมินเหตุการณ์ได้ว่า คนที่จะเข้าไปในพื้นที่คือใคร เงื่อนไขในการเข้าคืออะไร แม้แต่การเลื่อนก้อนหินออกมา 1 ก้อน ก็ทำให้โครงสร้างที่ยันกันไว้ หลังเกิดเหตุมันเสียสมดุลได้ ”
พร้อมทั้งระบุว่า ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เมื่อเกิดเหตุแล้วมันเสียหายน้อย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุมันต้องใช้งบประมาณมันต้องมีการฝึกกำลังคน แต่ก็มักมีคำถามมาเสมอว่าจะฝึกกำลังคนไปในเรื่อง Confined Area Management ฝึกไปแล้วจะได้ใช้ประโยชน์ไหม ถ้าเกิดไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในอีก 10 ปี จะเสียหายหรือเปล่า
“ในเรื่องภัยพิบัติจะพูดแบบนี้ไม่ได้มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกขณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไปนี้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะมีความเข้มข้นขึ้น ถี่ขึ้น และสลับซับซ้อนขึ้น ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงของชั้นธรณี หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของภูมิอากาศ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพราะฉะนั้นนั้น การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุทั้งการฝึกฝนคนและการเตรียมการในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด”