แรงจูงใจในการทำงานเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนให้เราอยากตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน แต่บางครั้งไฟในใจก็มอดลงได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะคน Gen Z ที่อาจรู้สึกว่างานไม่ตอบโจทย์ หรือไม่เห็นอนาคต
ผลสำรวจจาก Intelligent.com ชี้แจงว่าชาว Gen Z ขาดแรงจูงใจในการทำงาน โดยพบว่า “ผู้บริหาร 1 ใน 6 คนในสหรัฐฯ ลังเลที่จะจ้างบัณฑิตจบใหม่ เนื่องจาก 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าคนกลุ่มนี้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน หากไม่ตอบโจทย์ หรืองานที่ดูมีอนาคตไม่สดใส”
ไม่เพียงแต่ Gen Z เท่านั้นที่รู้สึกหมดไฟ พนักงานทุกช่วงวัยก็กำลังเผชิญกับภาวะนี้เช่นกัน ข้อมูลจาก Gallup เผยว่า “ความผูกพันของพนักงานในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 31% ในปี 2024 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษ แม้หลายคนต้องการเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนสายอาชีพ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทำให้พวกเขาต้องจำใจอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พึงพอใจต่อไป”
อย่างไรก็ตาม หากเรากำลังประสบพบเจอปัญหาเหล่านี้ ให้ลองอดทน ปรับเปลี่ยนตนเองด้วย 5 วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยเติมไฟในใจ ให้กลับมาฮึกเหิมกับงานที่ทำอีกครั้ง แถมยังเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้
5 เคล็ดลับช่วยเติมไฟในการทำงาน
1. ลดสิ่งกวนใจที่ไม่จำเป็น
เคยไหม ทำงานไปได้ไม่ทันไร ก็มีอีเมลเด้งเข้ามา มีคนเดินมาคุย หรือมีแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดีย สมาธิที่กำลังจดจ่อก็หลุดลอยไปซะแล้ว
ตามรายงานจากบริษัทซอฟต์แวร์ Unily พนักงานเกือบ 50% ถูกรบกวนอย่างน้อยทุก ๆ 30 นาทีในระหว่างวันทำงาน ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือเกือบหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามรายงานว่ามีสมาธิอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุก ๆ 15 นาที
ลองลดสิ่งรบกวนเหล่านี้ดู ด้วยการปิดแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็น หาที่ทำงานเงียบ ๆ หรือบอกเพื่อนร่วมงานว่าขอโฟกัสงานสักครู่ แล้วคุณจะพบว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ การลดการประชุมที่ไม่จำเป็นก็ช่วยได้เยอะ ลองถามตัวเองว่า “การประชุมครั้งนี้จำเป็นจริง ๆ หรือเปล่า” ถ้าไม่จำเป็น ก็เปลี่ยนเป็นการคุยผ่านอีเมล แชท หรือทางเลือกอื่นแทน
2. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ทำได้จริง
บางครั้งที่เราหมดไฟ ก็เพราะรู้สึกว่างานมันยากเกินไป เยอะเกินไป จนไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ลองเปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ทำได้จริงดู แทนที่จะคิดว่า “วันนี้ต้องทำงานให้เสร็จทั้งหมด” ลองแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตั้งเป้าหมายว่า “วันนี้จะทำอะไรให้เสร็จ 3 อย่าง” เพราะการศึกษาของ PwC ได้ค้นพบว่าผู้ที่กำหนดเป้าหมายรายวันอย่างน้อยสี่เป้าหมายต่อสัปดาห์มีแนวโน้มที่จะบรรลุ KPI เป้าหมายมากกว่าผู้ที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายถึง 34% เมื่อทำได้ตามเป้าหมาย ก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ
3. มองหาแรงบันดาลใจจากครอบครัว
บางคนอาจมองว่าเรื่องงานกับเรื่องครอบครัวเป็นคนละเรื่องกัน แต่จริง ๆ แล้ว ครอบครัวสามารถเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการทำงานได้
ลองคิดดูว่า คุณทำงานไปเพื่ออะไร เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เพื่อให้พ่อแม่สบาย เพื่ออนาคตของลูก หรือเพื่อคนที่คุณรัก สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจของครอบครัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยการเพิ่มพลังงาน และลดความเครียด อ้างอิงจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Academy of Management เพราะเมื่อมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจน แรงใจในการทำงานก็จะกลับมา
4. เปลี่ยนมุมมองความคิด
คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่สามารถพัฒนาได้ มักจะหมดไฟได้ง่าย ลองเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ มองความผิดพลาดเป็นบทเรียน มองความท้าทายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้เสมอ และทุกปัญหามีทางออก
5. พัฒนาทักษะใหม่ ๆ
การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองก้าวหน้าและมีคุณค่า อาจจะมองหาทางออกจากคอร์สเรียนออนไลน์ หรือกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือสิ่งที่คุณสนใจ เมื่อมีทักษะและความรู้มากขึ้น ความมั่นใจในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย