หากไม่นับวันปีใหม่ วันสงกรานต์ ที่ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาในบรรยากาศของเทศกาลวันหยุดยาว สำหรับคนใต้ “วันสารทเดือนสิบ” ถือเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน ทุกคนจะ “หลบบ้าน” (กลับบ้าน) มารวมตัวกันโดยมีงานบุญเป็นตัวเชื่อม
งานบุญเดือนสิบ และประเพณีชิงเปรต ของคนใต้ทุกปีจัดขึ้นโดยถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวัน “รับเปรต” และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวัน “ส่งเปรต” เชื่อกันว่า บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับ จะกลับมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน โดยทุกบ้านเตรียมอาหารคาว หวาน ไปวัด เพื่อนำไปถวายพระ ส่วนหนึ่งถูกแบ่งออกมาจากของทำบุญ เพื่อเตรียมเป็นอีกสำรับเรียกว่า “หมรับ” หลังจากถวายภัตตาหารเพลพระแล้ว หมรับจะถูกนำไปวางไว้บริเวณวัด หรือ ภายนอกวัด หรือตั้งศาลา เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ เรียกว่า “ตั้งเปรต”
เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ก็เริ่มงานบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรต ผู้คนก็ต่างก็แย่งอาหาร ของคาว หวานในหมรับ กันอย่างสนุกสนาน เรียกว่า “ชิงเปรต” โดยเชื่อว่าหากกินของที่เหลือจากที่เส้นไหว้บรรพบุรุษจะเป็นสิริมงคล
แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่การชิงเปรตในงานบุญเดือนสิบของคนใต้ ก็ยังถูกส่งต่อ
ชิงเปรตที่กำลังเลยเถิด ?
นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ บอกว่า จริง ๆ แล้วการชิงเปรต ไม่ต่างจากการละเล่น เป็นหนึ่งพิธีกรรมประกอบประเพณีสารทเดือนสิบ เพื่ออุทิศให้บรรพชน พร้อม ๆ กับคำสอนที่คอยย้ำเตือนลูกหลานอยู่เสมอ คือ “ชีวิตนี้ต้องอย่าอยู่อย่างทำผิด ทำบาป ตายไปจะได้ไม่กลายเป็นเปรต” แต่การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ก็กำลังทำให้การชิงเปรตเปลี่ยนไป
“ไป ๆ มา ๆ เราหลงลืมหลักคิดเดิม ไปสนุกเรื่องเปรต จัดงานจนเลยเถิด ทุกวันนี้กลายเป็นชิงเปรต แห่เปรต เป็นส่วนประกอบย่อยที่ทำให้ผู้คนสนุกสนานจนไม่ลงไปถึงแก่นแท้ของประเพณี เราเกือบทั้งหมดลืมสาระสำคัญ”
นพ.บัญชา พงษ์พานิช
สารทเดือนสิบ งานบุญคนใต้ หมุดหมายสำคัญลูกหลาน
สอดคล้องกับมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่าง วันพระ สืบสกุลจินดา ในบทบาทของบรรณาธิการสารนครศรีธรรมราช วัย 32 ปี เขาเป็นเด็กนครฯ ที่คลุกคลีกับวัฒนธรรมภาคใต้ โดยเฉพาะประเพณีสารทเดือนสิบมาตั้งแต่เด็ก แม้ในเชิงพิธีกรรมของงานบุญไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะแก่นสำคัญของงานบุญเดือนสิบ ยังคงเป็นหมุดหมายของลูก ๆ หลาน ๆ ได้หลบบ้านไปทำบุญให้บรรพชนที่ล่วงลับ และตอบแทนบุพการีที่ยังมีชีวิต
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมเท่าที่สัมผัสได้ คือ งานเฉลิมฉลองที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แน่นอนว่าหลายคนต้องนึกถึงงานบุญเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง จนถูกยกให้เป็นที่มาของคำว่า “คนมากเหมือนงานเดือนสิบ”
เขามองว่า เดิมวัตถุประสงค์ของการจัดงานเดือนสิบ คือ ระดมเงิน จัดหาทุนเพื่อจัดสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะกุศล แต่ช่วงหลังมานี้ ความเป็นสาธารณะกุศลของงานเดือนสิบหายไป จนไม่เหลือร่องรอยความเป็นท้องถิ่นดั้งเดิม
ภาครัฐกับความ(ไม่)เข้าใจงานบุญเดือนสิบ ?
สำคัญไปกว่านั้น คือ การเข้ามาสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ ที่ทำให้ภาพจำของประเพณีบุญเดือนสิบในช่วงเวลาหนึ่งคลาดเคลื่อนไปจากเดิม
“สิ่ง ๆ หนึ่งที่พอจะเป็นประเพณีได้ คือผู้คนต้องทำสิ่งนั้น ๆ ต่อเนื่อง แต่พอหน่วยงานรัฐเข้ามาส่งเสริม เหลือเชื่อว่าภาครัฐเปลี่ยนประเพณีได้ มีอยู่ปีหนึ่ง ผู้ว่าฯ สั่งย้ายเวลาการแห่หมรับ ที่แต่เดิมจะแห่กันระหว่างฉันเช้า และฉันเพล ก็มาขยับเวลาแห่หมรับเป็นช่วงบ่าย ผู้คนที่พบเห็นต่างก็งงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้เห็นความพยายามส่งเสริมประเพณี แต่ก็อาจถูกมองได้ว่าหน่วยงานรัฐอาจไม่เข้าใจเรื่องนั้น ๆ ดีพอ”
วันพระ สืบสกุลจินดา
ลูกหลาน “หลบบ้าน” หลอมรวมครอบครัว
วันพระ ยังเชื่อว่า ทุกประเพณีจำเป็นสำหรับยุคใหม่ เพียงแค่ว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในยุคของการเปลี่ยนแปลงไปงานบุญเดือนสิบ ก็ยังสะท้อนใจความสำคัญ คือ การหลบบ้าน คือการทำให้ครอบครัวเป็นรูปธรรม หลอมรวมให้ครอบครัวเกิดขึ้น
“งานบุญเดือนสิบเหมือนทำให้ครอบครัวได้ Set Zero ใครบาดหมางใจกัน ญาติ พี่น้องคนไหนผิดใจกัน โอกาสของงานบุญเดือนสิบที่ได้กลับมาพร้อมหน้ากัน ได้สร้างกระบวนการกันภายในเครือญาติ คุย ทำความเข้าใจกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือ หลอมรวมสถาบันทางสังคมหน่วยย่อยที่สุด คือครอบครัวให้มั่นคง”
วันพระ สืบสกุลจินดา
กตัญญูคนเป็น ระลึกถึงคนตาย แก่นแท้บุญเดือนสิบ
รศ.สืบพงษ์ ธรรมชาติ อดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา
ไม่ต่างกับหลักคิดของ รศ.สืบพงษ์ ธรรมชาติ อดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มองว่า แม้ว่ายุคสมัยจะทำให้งานบุญเดือนสิบเปลี่ยนไป แต่ต้องไม่ทำให้แก่นแท้ของประเพณีเปลี่ยนตาม ลูกหลานคนใต้ต้องรำลึกไว้เสมอถึงความกตัญญู รู้คุณ ต่อผู้ที่ล่วงลับ และต้องร่วมกันสำนึกถึงบุญคุณของคนในครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย การให้ความเคารพผู้มีพระคุณ เป็นผลที่สะท้อนการกระทำ สิ่งนี้จะกลายเป็นสิริมงคล ให้แก่ผู้ปฏิบัติ คือการได้รับพรจากผู้มีพระคุณที่ยังมีชีวิตอยู่
นอกจากจุดเน้นเรื่องความกตัญญู อดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ยังย้ำว่า ประเพณีสารทเดือนสิบช่วยสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว ขณะเดียวกันหากมองในเชิงงานบุญประเพณี ผู้คนยังได้สืบทอดศิลปะ วัฒนธรรมภาคใต้ ทั้ง มโนราห์ หนังตะลุง สิ่งนี้ไม่เพียงทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เกิดความสุขกาย สบายใจเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม ซึ่งต่างก็เป็นเครื่องมือสำคัญของการนำพาซอฟพาวเวอร์ให้เกิดขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
Nguồn: Thai PBS; https://theactive.thaipbs.or.th/read/ten-month-tradition